Article
ความสำคัญของระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ในการพิสูจน์ความล่าช้าในโครงการก่อสร้าง
Issue 04 (YEAR 2024)
เขียนโดย : ดร.อภิรัตน์ ประทีปอุษานนท์ (ดร.หมิว)
เผยแพร่ : 19 JUL 2024
ทุกวันนี้ โครงการก่อสร้างส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความซับซ้อนและความท้าทายในด้านต่าง ๆ เนื่องจากเอกสารงานก่อสร้างถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่กระดาษราคาถูก ๆ แต่ก็คือพยานหลักฐานที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสนับสนุนและพิสูจน์กระบวนการขอขยายระยะเวลางานก่อสร้าง ซึ่งถึงแม้ว่ากระดาษเหล่านี้อาจดูเหมือนไม่มีค่า แต่จริง ๆ แล้ว กระดาษดังกล่าวได้เก็บรักษาข้อมูลและเหตุการณ์สำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อเวลาและค่าใช้จ่ายในโครงการก่อสร้าง
ความซับซ้อนและข้อพิพาทในโครงการก่อสร้าง
ข้อพิพาทในงานก่อสร้างอาจเกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น เจ้าของงาน ผู้รับเหมา ผู้ออกแบบ หรือผู้จัดหาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งบ่อยครั้งที่การก่อสร้างต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เช่น การแก้ไขแบบก่อสร้าง หรือการเพิ่มงานในสัญญา ซึ่งสามารถทำให้วันแล้วเสร็จล่าช้าออกไป การจัดการเอกสารอย่างเป็นระบบช่วยลดความซับซ้อนและลดโอกาสเกิดข้อพิพาท อีกทั้งยังช่วยตรวจสอบความล่าช้า และป้องกันบรรเทาความล่าช้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้
บทบาทของเอกสารงานก่อสร้างในการพิสูจน์ความล่าช้า
เอกสารงานก่อสร้างไม่เพียงแค่บันทึกข้อมูล แต่ยังเป็นหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ว่าความล่าช้าเกิดจากอะไรและใครเป็นผู้รับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น เอกสารคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน รายงานประจำวัน และการอนุมัติวัสดุต่างๆ ที่บันทึกเหตุการณ์และการตัดสินใจต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน
สาเหตุของความล่าช้าที่มาจากเจ้าของโครงการ หรือตัวแทนเจ้าของโครงการที่พบบ่อยมากที่สุด คือ การแก้ไขแบบก่อสร้างล่าช้า การตัดสินใจอนุมัติเอกสารล่าช้า การตอบเอกสารสอบถามข้อมูล (RFI) ด้านเทคนิคล่าช้า ฯลฯ
ยกตัวอย่างความล่าช้าเนื่องจากการแก้ไขแบบก่อสร้างงานระบบไฟฟ้าชั้น 1 ล่าช้า ส่งผลกระทบต่อเวลาก่อสร้างโดยรวมล่าช้าไป 6 เดือน และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 5 ล้านบาทเนื่องจากการรื้อถอนงานที่ติดตั้งไปแล้ว จากเหตุการณ์ล่าช้าสมมุตินี้ โดยทั่วไป เอกสารที่ใช้ในการพิสูจน์ความล่าช้าจะ
ประกอบไปด้วย:
2. เอกสารแบบก่อสร้างฉบับแก้ไขทุกฉบับ (บางครั้งมีการแก้ไขมากถึง 10 รอบ)
3. เอกสารสอบถามข้อมูลหรือ Request for Information (RFI), ถ้ามี
4. เอกสารแบบโดยละเอียด หรือ Shop Drawings (หากมีการติดตั้งงานไปแล้ว จำเป็นต้องใช้แบบโดยละเอียดที่ได้รับอนุมัติแล้วมาแสดง เพราะบางครั้งผู้รับเหมาได้ติดตั้งไปก่อนที่แบบโดยละเอียดจะได้รับอนุมัติ)
5. เอกสารขอเข้าทำงานรายวัน หรือ Daily Request (กรณีที่เริ่มติดตั้งงานไปแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ)
6. เอกสารขอตรวจสอบงาน หรือ Work Inspection Request (กรณีที่ติดตั้งงานเสร็จแล้ว)
7. เอกสารแจ้งเตือน ตามระยะเวลาที่สัญญาระบุ (หากเกิดเหตุการณ์ล่าช้าที่กระทบเงินและ/หรือเวลา สัญญาส่วนใหญ่จะระบุให้แจ้งเตือนภายในกี่วัน)
8. เอกสารแสดงความเสียหาย เช่น เอกสารแสดงจำนวนคนทำงานล่วงเวลา เอกสารบันทึกว่ามีคนงานมาทำงานแต่มีอุปสรรคหน้างานทำงานไม่ได้ เอกสารแสดงว่าต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงเอกสารทางการเงิน (หากเคลมเงินเพิ่ม จะต้องแสดงเอกสารหลักฐานว่ามีการจ่ายค่าใช้จ่ายจริง)
นี่คือตัวอย่างของความล่าช้าเพียงเหตุการณ์เดียว เฉพาะเอกสาร RFI รายการที่ 3 อาจมีหลายร้อยเอกสารที่เราต้องเลือกออกมา และในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เหตุการณ์ความล่าช้ามักจะมีจำนวนหลักร้อยเหตุการณ์ตลอดระยะเวลาก่อสร้าง ดังนั้นหัวใจของการพิสูจน์ความล่าช้าคือการค้นหาเอกสารได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ประสบการณ์ที่ผ่านมา
ในปี ค.ศ. 1998 ข้าพเจ้าได้ทำงานในแผนกบริหารเคลมงานก่อสร้างที่บริษัท Hill International Inc. ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา แผนกนี้มีหน้าที่วิเคราะห์ความล่าช้าและขอขยายเวลาในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทุกครั้งที่มีข้อพิพาท เราต้องใช้เอกสารเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความล่าช้า ซึ่งต้องตอบคำถามหลัก ๆ เช่น โครงการล่าช้าไปกี่วัน สาเหตุหลักของความล่าช้าคืออะไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบ
ช่วงปีแรก ๆ ของการทำงาน เอกสารก่อสร้างต่าง ๆ ที่ต้องนำมาใช้ในการวิเคราะห์จะถูกจัดเก็บในรูปกระดาษในกล่องจำนวนมาก หลาย ๆ โครงการมีจำนวนหลายร้อยกล่อง เมื่อถึงปีที่ 2 ของการทำงาน บริษัทได้นำโปรแกรมจัดการเอกสารเข้ามา ทำให้เอกสารทั้งหมดถูกสแกนและนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถค้นหาเอกสารก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ หลังจากนั้นข้าพเจ้าจึงทำการวิเคราะห์โครงการก่อสร้างล่าช้าแบบไร้กระดาษ โดยสแกนเอกสารทุกฉบับและจัดเก็บในระบบคลาวด์ ทำให้สามารถเข้าถึงเอกสารได้จากทุกที่ในโลก ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสนุกกับงานที่ทำ
จนกระทั่งเมื่อ 10 ปีก่อน ข้าพเจ้าได้รับทำการวิเคราะห์เคลมก่อสร้างให้กับโครงการก่อสร้างขนาดกลางในประเทศไทยที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ข้าพเจ้าพบว่าการเข้าถึงเอกสารก่อสร้างและการทราบสถานะของเอกสารหรือสถานะของงานก่อสร้างจะขึ้นอยู่กับรายงานที่ต้องจัดทำอย่างหนักโดยวิศวกรภาคสนามหรือแอดมินไซต์งาน บางโครงการที่เกิดปัญหามาก มีการแก้ไขแบบหลาย ๆ รอบ และไม่มีระบบจัดการนำส่งอนุมัติเอกสารที่ดี ก็ยิ่งยากขึ้น ไม่ทราบแม้กระทั่งสถานะของแบบก่อสร้างที่แท้จริงของตัวเอง ข้อมูลกระจัดกระจายอยู่กับทีมออกแบบบ้างหรือทีมหน้างานบ้าง
ข้าพเจ้าทำได้ไม่กี่โครงการก็เพียงพอที่จะฟันธงว่า การจะบริหารก่อสร้างที่ดีได้ ต้องมีเครื่องมือในการบริหารจัดการเอกสารก่อสร้างที่ดี สามารถเก็บประวัติการแก้ไขและแสดงรายงานในรูปแบบกราฟและตารางได้ทันที ไม่สามารถลบหรือเปลี่ยนแปลงเอกสารที่นำส่งแล้วได้
ต่อมาในปี ค.ศ. 2013 ข้าพเจ้าและทีมงานต้องเข้าไปจัดการเอกสารก่อสร้างให้กับผู้รับเหมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการก่อสร้างตึกสูงในกรุงเทพ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดคือในอีก 2 ปีข้างหน้าเอกสารก่อสร้างจะมีเป็นล้านหน้า เราต้องหาเครื่องมือในการจัดการเอกสารที่ดี แล้วเครื่องมือไหนล่ะที่ดี?
เครื่องมือในการบริหารจัดการเอกสารก่อสร้าง
ปัจจุบัน มีเครื่องมือหลายอย่างที่ช่วยในการบริหารจัดการเอกสารก่อสร้างบนระบบ Cloud-Based ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของงาน ผู้รับเหมา ผู้ออกแบบ และที่ปรึกษา ซึ่งช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงเอกสารได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของเครื่องมือเหล่านี้ ได้แก่:
1. Aconex: แพลตฟอร์มที่ช่วยในการเชื่อมต่อทีมงานและกระบวนการต่าง ๆ ในทุกขั้นตอนของโครงการ และเก็บบันทึกข้อมูลโครงการทั้งหมดไว้ในที่เดียว
2. Procore: ระบบบริหารจัดการโครงการที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการเอกสาร รูปภาพ แผนที่ และรายงานต่าง ๆ บนคลาวด์ ทำให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ConZoL: ระบบจัดการเอกสารและโครงการก่อสร้างที่ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ทีมงานทุกฝ่ายสามารถติดตามเอกสาร การอนุมัติ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และป้องกันข้อพิพาทด้วยการเก็บประวัติเอกสารที่ตรวจสอบง่าย
เครื่องมือที่ข้าพเจ้าเลือกใช้บริหารเอกสารก่อสร้างทุกโครงการคือ ConZoL ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สร้างและพัฒนาโดยคนไทย ข้าพเจ้าเป็นผู้ใช้ระบบตั้งแต่แรก ๆ และได้ร่วมพัฒนาระบบให้มีฟังชั่นในการค้นหา ตรวจสอบ และเก็บประวัติของเอกสาร ทำให้ทราบสาเหตุของความล่าช้าได้แม่นยำ และ ConZoL ยังมีฟังชั่นการรายงานในรูปแบบกราฟแท่ง แสดงความคืบหน้าของเอกสารก่อสร้าง การนำส่งและรออนุมัติ ทำให้วิเคราะห์ได้อย่างง่ายดายว่างานส่วนไหนกำลังจะล่าช้า และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
ข้อดีและข้อเสียของการใช้ระบบการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบบูรณาการ (Integrated Electronic Document Management System – I-EDMS)
ข้อดี:
1. เพิ่มประสิทธิภาพ: การจัดเก็บและเรียกดูเอกสารจากระบบเดียวกันทุกฝ่าย ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน ลดเวลาที่ใช้ในการค้นหาเอกสารและการจัดการด้วยมือ ลดการขัดแย้งโต้เถียงกรณีที่ถือเอกสารไม่ตรงกัน
2. การทำงานร่วมกันที่ดีขึ้น: แพลตฟอร์มที่เป็นหนึ่งเดียวช่วยให้การสื่อสารและการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานโครงการ ผู้รับเหมา และลูกค้าดีขึ้น
3. ความแม่นยำที่สูงขึ้น: กระบวนการอัตโนมัติช่วยลดข้อผิดพลาดของมนุษย์ ทำให้เอกสารถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
4. การปฏิบัติตามกฎระเบียบและความปลอดภัย: ระบบที่ดีมักมีคุณสมบัติในการติดตามการตรวจสอบ การควบคุมการเข้าถึง และการจัดเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัย ช่วยให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบและปกป้องข้อมูลที่สำคัญ
5. การประหยัดค่าใช้จ่าย: การลดการใช้กระดาษและความต้องการพื้นที่เก็บเอกสารทางกายภาพสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากในระยะยาว อีกทั้งยังประหยัดเวลาของทีมงานก่อสร้าง ของทุกฝ่ายในการค้นหาเอกสาร ติดตามสถานะของเอกสาร
ข้อเสีย:
1. ต้นทุนเริ่มต้น: การนำระบบ I-EDMS มาใช้ต้องมีการลงทุนเริ่มต้นในซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และการฝึกอบรม ซึ่งอาจเป็นภาระสำหรับองค์กรบางแห่ง
2. การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง: พนักงานที่คุ้นเคยกับวิธีการแบบดั้งเดิมอาจต่อต้านการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ จำเป็นต้องมีการจัดการการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ
3. ปัญหาทางเทคนิค: การพึ่งพาเทคโนโลยีหมายความว่าหากระบบเกิดการหยุดทำงานหรือมีปัญหาทางเทคนิค จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหากไม่มีการจัดการที่ดี
4. ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูล: แม้ว่าระบบ I-EDMS จะเพิ่มความปลอดภัย แต่ก็ยังเสี่ยงต่อการโจมตีทางไซเบอร์ จำเป็นต้องมีมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง
สรุป
เอกสารก่อสร้างเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญมากในการบริหารโครงการก่อสร้าง หากเข้าถึงเอกสารสำคัญได้รวดเร็วแม่นยำในระหว่างงานก่อสร้าง ก็จะทำให้พิสูจน์ความล่าช้าโครงการได้ดี การนำระบบการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบบูรณาการ (I-EDMS) มาใช้ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือยอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโครงการก่อสร้างที่ต้องการประสิทธิภาพ ความถูกต้อง และการแข่งขัน ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ โครงการก่อสร้างสามารถเอาชนะความท้าทายแบบดั้งเดิม ติดตามแนวโน้มของอุตสาหกรรม และได้รับประโยชน์อย่างมากมาย ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าการลงทุนในระบบ I-EDMS นี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความคุ้มค่า ถึงแม้ว่าอาจจะมีอุปสรรคในช่วงแรก ๆ อยู่บ้างก็ตาม
ประวัติย่อ ผู้เขียน
ดร. อภิรัตน์ ประทีปอุษานนท์ หรือ ดร.หมิว ที่ปรึกษาการขอขยายเวลางานก่อสร้าง ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์งานล่าช้า และกรรมการผู้จัดการบริษัท ควอนตัม พีพีพี คอนซัลติ้ง จำกัด มีประสบการณ์การวิเคราะห์โครงการก่อสร้างล่าช้า ที่ปรึกษาข้อพิพาทงานก่อสร้างสากล มากว่า 20 ปี กว่า 300 โครงการขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ตัวอย่างเช่น โครงการ Big Dig ที่เมืองบอสตัส ประเทศสหรัฐอเมริกา โครงการรถไฟใต้ดินที่ประเทศฮ่องกง โครงการก่อสร้างท่อแก็ส WAGP ที่แอฟริกา โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 1 และโครงการก่อสร้างตึกมหานคร ที่ประเทศไทย
เพื่อป้องกันและแก้ไขข้อพิพาทตั้งแต่เริ่มโครงการก่อสร้าง ดร. อภิรัตน์ได้โปรโมทการนำระบบบริหารจัดการเอกสารก่อสร้างที่ทันสมัย ในวงการก่อสร้างในประเทศไทย ที่ควรใช้กันทุกฝ่ายในโครงการก่อสร้าง เช่น เจ้าของงาน ที่ปรึกษาโครงการ ที่ปรึกษาออกแบบ ผู้รับจ้างทุกๆฝ่าย ผู้ผลิต เพื่อลดต้นทุน เพิ่มความถูกต้องแม่นยำ หลีกเลี่ยงความล่าช้าที่ไม่จำเป็น และเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทุกฝ่ายในโครงการก่อสร้าง ด้วยการบริการบริหารจัดการเอกสาร QConZol (ConZol system provided by Quantum PPP)
ดร. อภิรัตน์ จบปริญญาเอกวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม (บริหารงานก่อสร้าง) จาก Virginia Polytechnic Institute, Blacksburg, Virginia ปริญญาโทการบริหารจัดการธุรกิจ จาก University of Maryland University College, College Park, Maryland ปริญญาโทการวิจัยการดำเนินงาน จาก The George Washington University, Washington, DC และปริญญาตรีการบริหารอุตสาหการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเทศไทย
EXPERIENCE
Quantum PPP Consulting Limited | 2010 – present |
PPP Consultants, Bangkok, Thailand | 2005 – 2010 |
Hill International, Inc., Washington, DC | 1998 - 2005 |
S.P. Electric Industry Co., Ltd., | 1992 – 1993 |
CONTACT:
Email: | apirath.p@quantumppp.com |
Line ID: | Mew1885 |